กินเป็น ลดเค็ม ลดป่วยได้จริงหรือ?
กินเป็น ลดเค็ม ลดป่วย
เค็ม ในความหมายของอาหารและเครื่องดื่มที่มีการรณรงค์ให้ลดการบริโภค น่าจะหมายถึง “เกลือโซเดียม” หรือ “โซเดียม” เป็นหลัก เพราะยังมีเกลือชนิดอื่นที่ให้รสเค็มเช่นกัน อาทิ เกลือโปแตสเซียม แต่จากการศึกษายังไม่มีข้อมูลบ่งบอกถึงอันตรายต่อสุขภาพ ต่างจากเกลือโซเดียมที่สามารถก่อปัญหาสุขภาพให้เราได้อย่างไม่น่าเชื่อหากบริโภคมากเกินไป
ปริมาณโซเดียมที่ควรบริโภคต่อวัน
ในความเป็นจริงร่างกายมนุษย์ไม่ได้ต้องการเกลือโซเดียมมากมายเลยในแต่ละวัน จากการศึกษาในประเทศตะวันตก ได้ระบุว่าปริมาณโซเดียมสูงสุดที่ร่างกายสามารถรับได้โดยไม่เกิดอันตรายคือ 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน หรือคิดเป็นโซเดียมคลอไรด์ (เกลือแกงที่ใช้ในการปรุงอาหาร) ที่ประมาณ 6 กรัมต่อวัน อย่างไรก็ตามได้มีคำแนะนำใหม่ออกมาเมื่อปีที่แล้วว่า ถ้าสามารถลดปริมาณโซเดียมลงเหลือเพียง 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน โอกาสการเกิดโรคความดันโลหิตสูงและโรคอื่นๆ ก็จะยิ่งลดลงตามไปด้วย
หากคำนวณจากปริมาณโซเดียมสูงสุดที่ 2,400 มิลลิกรัม เท่ากับว่าในอาหารหนึ่งมื้อเราต้องได้รับโซเดียมไม่เกิน 800 มิลลิกรัม ซึ่งเทียบเท่าน้ำปลาหรือซีอิ๊วประมาณ 1/2 ช้อนโต๊ะ หรือหากเป็นเต้าเจี้ยวก็ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะกว่าๆ แต่ถ้าเราต้องการลดปริมาณโซเดียมลงเหลือ 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน เท่ากับว่าในหนึ่งมื้อต้องบริโภคอยู่ที่ประมาณ 500 มิลลิกรัม หรือไม่เกิน 1/2 ช้อนโต๊ะ จะเห็นได้ว่าในแต่ละวันเราบริโภคโซเดียมเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้หลายเท่า
ผลกระทบของโซเดียมต่อร่างกาย
โซเดียมที่เราบริโภคเข้าไปจะถูกดูดซึมที่กระเพาะอาหารและลำไส้ โซเดียมส่วนเกินที่ร่างกายไม่ต้องการจะถูกขับออกที่ไต ส่วนที่ไม่ถูกขับจะอยู่ในเลือดและเซลล์ โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในเลือด ถ้าเราบริโภคโซเดียมมากเกินไป ร่างกายอาจขับออกไม่หมด เมื่อโซเดียมในเลือดมีปริมาณมาก ร่างกายจะต้องการน้ำมากขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้โซเดียมเข้มข้นเกินไป ซึ่งจะส่งผลให้ระบบการทำงานของร่างกายผิดปกติ จะสังเกตได้ว่าเมื่อใดก็ตามที่เรากินเค็มมากๆ เราจะรู้สึกหิวน้ำบ่อยขึ้น ปริมาณโซเดียมและน้ำที่เรารับเข้าไปจะทำให้ปริมาณเลือดในร่างกายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ นอกจากนี้โซเดียมยังมีผลต่อการหดตัวของหลอดเลือด ซึ่งเมื่อหลอดเลือดหดตัว ก็จะยิ่งทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่ออวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น สมอง ใจ ไต ตา ฯลฯ
ผลเสียอีกอย่างหนึ่งของการบริโภคโซเดียมมากๆ คือ ทำให้หลอดเลือดแข็งตัวง่ายขึ้น เกิดข้อเสียคือทำให้เลือดวิ่งเร็วเกินไป หลอดเลือดยิ่งแข็งเลือดก็ยิ่งวิ่งเร็ว แรงกระแทกต่ออวัยวะต่างๆ เช่น สมอง หัวใจ และไต ก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น อวัยวะร่างกายจึงเสื่อมเร็วขึ้น
จากการศึกษาขององค์กรสุขภาพระดับโลกหลายแห่งพบว่า การบริโภคโซเดียมในปริมาณมากเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคหัวใจหลอดเลือด และการควบคุมปริมาณโซเดียมจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ได้ นอกจากนี้ยังพบว่ามีอีกหลายโรคที่สัมพันธ์กับการกินเค็ม เช่น เบาหวาน ภาวะอ้วนลงพุง ภาวะดื้ออินซูลิน มะเร็งกระเพาะอาหาร กระดูกพรุน และนิ่วในไต เป็นต้น
เทคนิคลดการบริโภคโซเดียม
เทคนิคง่ายๆ ในการควบคุมปริมาณโซเดียมในร่างกาย คือ ต้อง “กินให้เป็น” ยกตัวอย่างเช่น
• เลือกของว่างที่มีประโยชน์ เช่น ผลไม้สด ผลไม้อบแห้ง ถั่วลิสงหรือธัญพืชไม่อบเกลือ แทนของว่างประเภทเค้ก เบเกอรี่ ช็อกโกแลต หรือมันฝรั่งทอดกรอบ เนื่องจากอาหารเหล่านี้มีโซเดียมปริมาณมาก โดยเฉพาะพวกเบเกอรี่ซึ่งมีโซเดียมผสมอยู่อย่างน้อย 2 ชนิด คือ โซเดียมคลอไรด์ (เกลือแกง) และโซเดียมไบคาร์บอเนต (ผงฟู)
• ลดการบริโภคอาหารสำเร็จรูป ปัจจุบันมีร้านสะดวกซื้อและร้านขายอาหารผุดขึ้นมากมายเพื่อรองรับความเร่งรีบของคนในสังคม จากการศึกษาพบว่าอาหารตามร้านสะดวกซื้อส่วนใหญ่เป็นอาหารสำเร็จรูปและมีโซเดียมปริมาณมาก ทั้งโซเดียมคลอไรด์ และโซเดียมเบนโซเอตซึ่งเป็นสารถนอมอาหาร เช่นเดียวกับอาหารที่ทำขายตามร้านอาหาร จะมีโซเดียมมากกว่าอาหารทำเองที่บ้านหลายสิบเท่า เพราะเราไม่สามารถกะเกณฑ์ปริมาณเครื่องปรุงที่ผู้ขายใส่ลงไปได้ จากการศึกษาของสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าสัดส่วนโซเดียมที่ได้รับในอาหารจากคนไทย ร้อยละ 71 มาจากเครื่องปรุงรสระหว่างการประกอบอาหาร ดังนั้นการทำอาหารกินเองจึงช่วยให้เราควบคุมปริมาณโซเดียมได้ตามต้องการ
• จิ้มหรือคีบอาหารแทนการคลุกเคล้าหรือเทราด สิ่งนี้ถือเป็นวัฒนธรรมการกินของชาวตะวันออก เช่น คนจีนก็จะมีตะเกียบไว้คีบอาหาร ส่วนคนไทยใช้มือหยิบแล้วจิ้ม เป็นการบ่งบอกว่าเวลากิน ควรกินแบบไหน อย่างเวลาสั่งก๋วยเตี๋ยวน้ำ ให้กินก๋วยเตี๋ยวน้ำ แต่อย่ากินน้ำก๋วยเตี๋ยว เพราะในน้ำก๋วยเตี๋ยวมีทั้งหวาน มัน เค็มอยู่ในนั้น ให้คีบกินแต่เส้นแล้วเหลือน้ำทิ้งไว้ เวลาไปกินสุกี้ก็ให้ใช้วิธีคีบแล้วจิ้มน้ำจิ้ม แตะพอรู้รส อร่อยอย่างพอเพียง ไม่ใช่เทราดน้ำจิ้มลงไปในถ้วยสุกี้ อย่างนี้ถือว่ากินไม่เป็น โซเดียมก็เกิน โรคภัยก็ตามมา
ลดเค็ม ลดความดันฯ เจ็ดวันความดันฯ ลด
ถึงแม้ข้อมูลจากการศึกษาของสถาบันสุขภาพที่เชื่อถือได้ส่วนใหญ่จะกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “ลดเค็ม ลดโรค” อย่างไรก็ตามบางคนอาจมองว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นเรื่องไกลตัวเกินกว่าที่จะพิสูจน์ได้ วิธีง่ายๆ ที่เราสามารถพิสูจน์ได้ด้วยตัวเองว่า การลดโซเดียมมีประโยชน์จริงก็คือ “การวัดความดันโลหิต” สำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ให้เริ่มต้นด้วยการวัดความดันโลหิตแล้วจดบันทึกไว้ จากนั้นให้ลดการบริโภคโซเดียมเป็นเวลา 7 วัน แล้ววัดความดันโลหิตใหม่อีกครั้ง จะพบว่าค่าความดันโลหิตลดลงอย่างเห็นได้ชัด อยากให้ลองทำดู เพราะไม่อย่างนั้นบางคนก็จะยังคงสงสัยต่อไปว่าจะลดเค็มไปทำไม กินจืดๆ ไปเพื่ออะไร การค้นหาคำตอบด้วยตัวเองจะเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันให้เรามุ่งมั่นในการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น
Article: ผศ.นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจและหลอดเลือด
Thank for Healthtoday.net
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : กินเป็น ลดเค็ม ลดป่วยได้จริงหรือ?
เรื่องนี้ไม่อนุญาติ ให้แสดงความคิดเห็น