ความจริงเรื่อง ใช้ขวดน้ำซ้ำ ! กับ มะเร็ง มาพลิกดูเครื่องหมาย PET ใต้ก้นขวดกัน
ความจริงเรื่อง ใช้ขวดน้ำซ้ำ ! กับ มะเร็ง มาพลิกดูเครื่องหมาย PET ใต้ก้นขวดกัน
มีการส่งต่อข้อมูลจากโลกออนไลน์ ถึงกรณี การใช้ขวดน้ำซ้ำ ว่าอาจเป็นสาเหตุนำไปสู่ การเกิดมะเร็ง โดยมีข้อความว่า หยิบขวดน้ำพลาสติก หรือภาชนะพลาสติกที่บ้านคุณขึ้นมา แล้วพลิกก้นมันดู จะเห็นว่ามี ตัวย่อ แบบต่างๆอยู่
ขวดน้ำทั่วไป จะเขียนเป็น PET หรือ PETE
ซึ่งมันคือ พลาสติกโพลีเอทิลีนเทอพาทาเลท (Polyethylene Terephthalate)
“ออกแบบมาให้ใช้ได้แค่ครั้งเดียว” แลมีสารอะซิทัลดิไฮด์ ซึ่งเป็นสารที่องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริการะบุว่าเป็นสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งในคนรวมทั้งอาจเป็นส่งผลลบต่อพัฒนาการทางสมองครับ
และมีผลการศึกษาน้ำแร่ที่บรรจุในขวดเพทพบว่ามีสิ่งชี้บ่งของความเป็นพิษเกิดขึ้นภายหลังจากบรรจุน้ำลงขวดแล้ว 8 สัปดาห์ ดังนั้นจึงไม่ควรดื่มน้ำที่บรรจุในขวดเพทนานเกินกว่า 8 สัปดาห์ ไม่ว่าจะเก็บที่อุณหภูมิใดก็ตาม
ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลแล้ว กระทรวงสาธารณสุขเคยให้คำแนะนำเกี่ยวกับการ ใช้ขวดน้ำซ้ำ ไว้ดังนี้
กรมวิทย์ฯยันขวดเพทใช้ใหม่ได้ แต่ต้องหมั่นล้าง-ตรวจคุณภาพ
กรณีที่มีผลงานวิจัยจากต่างประเทศระบุว่า การนำขวดพลาสติคใส หรือขวดเพท ( PET : Polyethylene Terephthlalate ) ที่บรรจุน้ำอัดลม และน้ำผลไม้ กลับมาใช้ใหม่อาจมีอันตรายต่อสุขภาพได้ หากขวดมีลักษณะบุบ มีรอยร้าว แตก หรือถูกความร้อนทำให้ขวดเปลี่ยนรูปร่างไปจากเดิม โดยสารเคมีจากเนื้อพลาสติคอาจปนเปื้อนกับอาหาร หรือน้ำที่บรรจุในขวด และหากได้รับสารพิษสะสมจำนวนมากจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งได้ง่ายขึ้นนั้น
นายประกาย บริบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ( สธ. ) เปิดเผยว่า ผลการวิจัยดังกล่าว ส่งผลให้เกิดความโกลาหลไปทั่วโลก จนกระทั่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ต้องทำวิจัยศึกษาวิจัยเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเรียกเก็บขวดเพทจากทั่วประเทศยุโรปมาศึกษา แต่ผลการศึกษาไม่พบว่าขวดเพทที่มีรอยบุบ ร้าว จะมีสารเคมีที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปนเปื้อนแต่อย่างใด
” นักวิจัยจึงได้สอบถามกลับไปยังมหาวิทยาลัยที่ได้เคยศึกษาเรื่องนี้ไว้เดิม โดยได้มีการตรวจสอบใหม่อีกครั้ง จึงพบว่า ขั้นตอนที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนสารเคมีเกิดจากความผิดพลาดระหว่างที่ปฏิบัติการในห้องทดลอง ” นายประกายกล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม แม้จะมีผลการทดลองยืนยันว่า ขวดเพทปลอดภัยไม่มีสารเคมีปนเปื้อนก็ตาม แต่การนำกลับมาใช้ใหม่ต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาด ต้องล้างทำความสะอาดขวดก่อนนำมาใช้ใหม่ โดยเฉพาะภายในขวดที่มีร่องเป็นลวดลายอาจทำความสะอาดไม่ทั่วถึง และเมื่อใช้ไปนานๆ ต้องหมั่นสังเกตว่าสีของขวดเปลี่ยนไปหรือไม่ หากมีคราบสีเหลือง หรือขวดไม่ใสเหมือนเดิมให้ทิ้งทันที เพราะอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนได้
” กรณีที่ขวดบุบ มีรอยร้าว หรือแตก แม้จะไม่มีสารเคมีปนเปื้อนแต่ก็จะเป็นช่องว่างทำให้เชื้อโรค เชื้อแบคทีเรียต่างๆ เข้าไปเกาะตามรอยร้าวนั้นได้ ซึ่งส่วนใหญ่รอยเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคในการล้างทำความสะอาด ทำให้ล้างคราบสกปรกออกไม่หมด ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย หากเห็นว่าขวดที่ใช้มีรอยร้าว หรือบุบ ก็ให้ทิ้งทันที ส่วนขวดพลาสติคขุ่นไม่ควรนำมาใช้ใหม่โดยเด็ดขาด ” นายประกายกล่าว
นอกจากนี้ นายประกายกล่าวอีกว่า ยังมีบรรจุภัณฑ์ประเภทโฟมที่ต้องระมัดระวัง ร้านอาหารต่างๆ ไม่ควรนำโฟมมาใส่อาหารที่มีความร้อนและอาหารมัน เพราะจะทำให้โฟมละลายสารเคมีและปนเปื้อนในอาหารได้ หากสารเคมีสะสมในร่างกายมาก จะเสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง แต่หากเลี่ยงไม่ได้ ควรจะใช้ถุงพลาสติค ถุงร้อน หรือใบตอง รองทั้งด้านบนและด้านล่างกล่องโฟม เพื่อป้องกันไม่ให้อาหารสัมผัสกับโฟมโดยตรง
สำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข
19/พ.ย/2550
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : ความจริงเรื่อง ใช้ขวดน้ำซ้ำ ! กับ มะเร็ง มาพลิกดูเครื่องหมาย PET ใต้ก้นขวดกัน
เรื่องนี้ไม่อนุญาติ ให้แสดงความคิดเห็น