ชีวิตเนิบช้าในลำปาง
ชีวิตเนิบช้าในลำปาง
© Ekkachai Pholrojpanya/Getty Images อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน
ลำปาง จังหวัดรอยต่อสู่ลำพูนและเชียงใหม่ เมืองที่ใครๆ หลายคนอาจจะผ่านเลยไป บางคนอาจจะเลือกแวะพักผ่อนตัวเองอยู่ที่เมืองนี้ ชื่อเสียงของเมืองลำปางมีมากมายหลายด้าน ด้วยประวัติความเป็นมาที่ยาวนานไม่น้อยกว่า 1,300 ปี พอๆ กับลำพูน ทั้งยังเป็นเมืองที่คงอัตตลักษณ์ของตนเองเอาไว้ เช่น รถม้า ที่ยังมีให้บริการทั่วไป หรือเซรามิกเนื้อดี ที่เป็นสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัด แล้วยังเป็นเมืองที่มีวัดวาอารามเก่าแก่มากมายที่ยังคงเอกลักษณ์ ของตัวเองไว้
ลำปาง อีกสักรอบของฉันครั้งนี้ ก็ไม่พลาดที่จะไปนั่งรถม้าเที่ยวเมืองอยู่ดี ก็อยู่ที่ไหนๆ ไม่สามารถนั่งรถม้าท่องเที่ยวไปตามจุดต่างๆในเมืองได้นี่นา อย่างมากถ้ามีก็แค่นั่งเล่นในบริเวณสถานที่นั้นแล้วจบกัน
ลำปางมีรถม้าใช้มาตั้งแต่เมื่อ 80 ปีที่แล้ว โดยคันแรกนำมาจากกรุงเทพมหานคร ในสมัยของเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย จนตอนนั้น รถม้าได้รับความนิยมสูงสุดในการเดินทาง เรียกกันว่า รถม้าแท็กซี่ คอยให้บริการรับส่งผู้โดยสารจากสถานีรถไฟเข้าสู่เมืองลำปาง รวมถึงใช้บรรทุกของ
ฉันเลือกที่จะนั่งรถม้า ย้อนอดีตไปกับเรื่องราวที่เล่าขานต่อกันมา ตั้งแต่การเรียกชื่อเมืองนี้ว่า เมืองเขลางค์ หรือ นครลำปาง ล้วนมีที่มา ปรากฏอยู่ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง ทั้งในตำนานและภาษาพูดโดยทั่วไป สมัยก่อนจังหวัดใกล้เคียงมักจะเรียกชาวลำปางว่า “จาวละกอน” ซึ่งหมายถึง ชาวนคร คำว่าละกอนมีชื่อทางภาษาบาลี ว่า “เขลางค์ ” หรือตามประวัติความเป็นมาของการก่อตั้งเมืองระบุไว้ว่า ตั้งชื่อตาม “พรานเขลางค์” ที่เป็นผู้นำทางและมีส่วนร่วมในการสร้างเมือง ส่วนหลักฐานทางประวัติศาตร์ อย่างศิลาจารึกเจ้าหมื่นคำเพชร พ.ศ.2019 หรือตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตลอดจนพงศาวดารของทางฝ่ายเหนือ ระบุไว้ว่าชื่อ “เมืองนครลำปาง”
รถม้าพาฉันเดินทางมากถึง สถานีรถไฟนครลำปาง (สังเกตว่ายังใช้ชื่อนี้ แทนคำว่า จังหวัดลำปางหรือเมืองลำปาง) ไม่ต้องห่วง เพราะที่ด้านหน้าสถานีรถไฟนี้ จะมีจุดจอดรถม้าอยู่ด้วย ขณะที่รถสองแถวสีเหลืองเขียวโดดเด่น จอดเรียงราย รอรับผู้โดยสารอยู่หน้าสถานีรถไฟอีกด้านหนึ่ง ตัวอาคารมี 2 ชั้น ครึ่งตึกครึ่งไม้ เป็นสถาปัตยกรรมไทยภาคเหนือ ผสมผสานกับยุโรป ชั้นบนเป็นที่ทำการสารวัตรเดินรถลำปาง ส่วนชั้นล่างเป็นที่ทำการของสถานี
รั้วระเบียงอาคารชั้นบน รวมถึงเหนือวงกบประตูและหน้าต่าง ทำด้วยไม้ฉลุลวดลายสวยงาม โดยเฉพาะระเบียงเห็นโดดเด่นแต่ไกล ประตูเข้าไปในตัวสถานีเป็นประตูรูปโค้งขนาดใหญ่ ในอดีต สถานีรถไฟนครลำปางเป็นศูนย์กลางของรถไฟที่จะต่อไปที่นครเวียงพิงค์ (จังหวัดเชียงใหม่) โดยเปิดใช้งานเมื่อครั้งรถไฟหลวงขบวนแรกเดินถึงจังหวัดลำปางในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2459 มาถึงสถานีแห่งนี้ แวะเดินเล่น ชมเรื่องราวของรถไฟไทย ผ่านบอร์ดนิทรรศการที่จัดไว้ด้านในได้
ออกจากสถานีรถไฟ ขึ้นรถม้าที่จอดรออยู่ด้านหน้า พาเที่ยวเมืองต่อ อ้อ… รถม้าที่นี่ก็ต้องวิ่งกันตามกฎจราจรไม่ต่างจากรถประเภทอื่นๆ ถึงเวลาก็ต้องติดไฟแดงด้วยเหมือนกัน แล้วห้ามอุจาระเรี่ยราดด้วย ซึ่งคนบังคับโดยมากเป็นเจ้าของก็จะเตรียมที่รองรับอุจจาระไว้อยู่แล้ว รวมถึงกระป๋องน้ำไว้ให้ม้าดื่มระหว่างพักรถ
นั่งรถม้า แม้จะไม่เร็วเหมือนกับรถเก๋ง หรือรถอื่นๆ แต่ก็ไม่ได้ช้าจนน่าเบื่อ ในสนนราคาชั่วโมงละ 400 บาท ฉันว่าได้อรรถรสของการใช้ชีวิตแบบเนิบบ้าง (เสียบ้าง) บางคนบอกไม่กล้านั่งสงสารม้า แต่นี่ก็เป็นอาชีพของม้าที่หาเลี้ยงปากท้องของมันและเจ้านายด้วยเช่นกัน ขอแค่อย่าอัดกันขึ้นไปหลายๆ คนก็แล้วกัน (สงสารมันของจริง)
จากสถานีรถไฟ ผ่านถนนที่ร่มรื่น ย่านโรงทำไม้เก่า บ้านเรือนแถวนี้ยังคงเอกลักษณ์ของเรือนไม้ ดูขลึมขลัง ไม่นานนักก็ถึง วัดศรีรองเมือง เป็นวัดพม่าที่สวยงามวิจิตร อายุเก่าแก่กว่า 100 ปี โดยสร้างขึ้นเมื่อปี 2447 แต่เดิมชื่อ วัดท่าคะน้อยพม่า ตามประวัติกล่าวกันว่า สร้างโดยคหบดีชาวพม่า ที่เข้ามาทำไม้ในลำปาง ว่ากันว่า ใช้เวลาสร้างถึง 7 ปี ภายในวัดมีทั้งวิหารใหญ่ และวิหารน้อย แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงวิหารใหญ่ที่เป็นวิหารประธานของวัด
วิหารวัดศรีรองเมือง เป็นอาคาร 2 ชั้น มีหลังคาจั่วซ้อนกันเป็นชั้นๆ แบบพม่า มียอดแหลม 9 ยอด ฉลุลายบนสังกะสีใช้ประดับบนจั่วและเชิงชาย ภายในวิหาร มีพระพุทธรูปไม้สักองค์ใหญ่ (ที่สุดในโลก) ชื่อ พระพุทธรูปบัวเข็ม เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะพม่าแบบมัณฑเลย์
กราบพระขอพรเสร็จ ขึ้นรถม้า พาไปเที่ยวย่านตลาดเก่า อย่าง กาดกองต้า แปลง่ายๆ จากภาษาท้องถิ่นล้านนา ก็คือ ตลาดบริเวณตรอกท่าน้ำ หรือที่ชาวบ้านจะเรียกตลาดจีนเพราะเป็นย่านที่มีคนจีนอาศัยอยู่ และเป็นถนนเส้นเลียบแม่น้ำวัง ที่กลับมาคึกคักอีกครั้งในยามค่ำวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะเปิดเป็นถนนคนเดิน ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2548 และมีเกสต์เฮ้าส์น่ารักๆ ในย่าน “กาดกองต้า” อยู่หลายแห่ง แถมราคาไม่แพง
กาดตองก้า ในอดีตเป็นย่านการค้าที่เจริญรุ่งเรืองมาก ตั้งแต่สมัย ร.5 เนื่องจากเมืองลำปางเป็นศูนย์กลางทางการค้าของภาคเหนือ มีผู้คนจากหลายเชื้อชาติอาศัยทำธุรกิจเช่น อังกฤษ พม่า จีน
จากสะพานรัษฎาภิเศก สะพานเก่าแก่ที่เชื่อมสองฝั่งของแม่น้ำวังเข้าด้วยกัน เรื่อยไปตามถนนกาดกองต้า จะเห็นอาคารบ้านเรือนสองฝั่งถนน ที่มีรูปแบบผสมผสานกันไป ทั้งแบบเรือนไทยภาคกลาง เรือนล้านนา เรือนพม่า หนึ่งในนั้นเป็นบ้านของคหบดีชาวพม่า หม่องโง่ยซิ่น ที่สร้างแบบสถาปัตยกรรมขนมปังขิงหลังคาทรงมะนิลา นับเป็นอาคารที่โดดเด่นที่สุดบนถนนสายนี้ ปัจจุบัน คนในชุมชนได้ช่วยกันบูรณะอาคารเก่า บ้านโบราณ ให้เป็นถนนสายวัฒนธรรมที่สวยงามมีเอกลักษณ์อีกแห่งของจังหวัดลำปาง
เห็นแบบนี้แล้ว คืนนี้ (ที่มีถนนคนเดินพอดี) เราเลยนัดแนะกัน มาเดินทอดน่อง ชมแสงสีและข้าวของในยามค่ำ อากาศดีไม่มีฝนซะด้วย
จากการนั่งรถม้า ชมเมือง ฉันออกไปสัมผัสอากาศนอกเมืองบ้าง มาลำปางก็ต้องไปแหล่งน้ำพุร้อนขนาดใหญ่ของที่นี่ อยู่ที่ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน อ.แจ้ซ้อน นั่งรถราวๆ ชั่วโมง ไปถึงก็ได้คลายเมื่อยในบ่อน้ำพุร้อนกันเลย น้ำพุร้อนแต้ซ้อนมีทั้งหมด 9 บ่อ ในเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ มีทางเดินเป็นหินอุ่นๆ ผ่านไปตามบ่อน้ำแร่ บางบ่อก็อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส บางบ่อก็ไต่ระดับความร้อนขึ้นไปถึง 83 องศา
กิจกรรมที่เห็นนอกจากการแช่ตัว แช่เท้า ของนักท่องเที่ยว ที่บ่อสำหรับแช่ด้านในเพราะเป็นจุดที่น้ำแร่ร้อน มาผสมกับน้ำเย็นที่ไหลมาจากน้ำตก ทำให้อุณหภูมิกำลังเหมาะแล้ว การแช่ไข่ ก็ไม่น้อยหน้ากัน แต่ถ้ารีบเร่ง ก็ลองมองหาบ่อที่อุณหภูมิสูงๆ ก็อาจะย่นระยะเวลาให้เร็วขึ้น ราวๆ 15-17 นาที แปลกดี!! ไข่ที่แช่น้ำพุร้อนไข่แดงจะสุก แต่ไข่ขาวจะไม่สุก
เที่ยวบ่อน้ำพุร้อน น่าจะเที่ยวช่วงอากาศหนาวๆ เพราะจะทำให้เรารู้สึกอุ่นขึ้นมาได้ แต่ไม่น่าเชื่อ จากสถิติที่ขึ้นกระดานไว้ พบว่า เดือนที่มีนักท่องเที่ยวมากที่สุด คือ เดือนเมษายน ไม่ต่ำกว่า 40,000 คนเชียว แต่ช่วงหน้าฝนอย่างนี้ นักท่องเที่ยวไม่มากนัก
กลับจากแช่น้ำพุร้อน ก่อนเดินทางกลับ แวะช็อปของฝากเสียหน่อย มาถึงเมืองตราไก่ เอ้ย ชามไก่และเซรามิกที่เลื่องชื่อ จะพลาดได้ยังไง อินทราเอาท์เลท เป็นศูนย์จำหน่ายเซรามิกขนาดใหญ่ ไม่ไกลจากตัวเมืองนัก ที่นี่เป็นศูนย์รวมเซรามิกคุณภาพส่งออก จำหน่ายในราคาโรงงาน หรือสินค้าบางชิ้นยังลดราคาลงไปอีก
ใครชื่นชอบน้องเหมียว บอกเลยว่า มาเดินดูถ้วยชาม แก้วมัค แก้วกาแฟ ที่อินทราเอาท์เล็ทยามนี้ รับรองว่าอดใจไม่ไหวที่จะไม่ซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้านแน่ๆ
Slow Life ในลำปาง เที่ยวนี้ อิ่มเอิมใจไปกับเมืองที่ยังมีกลิ่นอายอันเป็นอัตลักษณ์ของตัวเองซะจริงๆ
(ชวนเที่ยว : ชีวิตเนิบช้าในลำปาง : เรื่อง / ภาพ นพพร วิจิตร์วงษ์)
Komchadluek
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : ชีวิตเนิบช้าในลำปาง
เรื่องนี้ไม่อนุญาติ ให้แสดงความคิดเห็น