ทันตสุขภาพในผู้ป่วย ‘เคมีบำบัด’
ทันตสุขภาพในผู้ป่วย ‘เคมีบำบัด’
© Daily News ทันตสุขภาพในผู้ป่วย ‘เคมีบำบัด’
ในประชาชนทั่วไปทั่วประเทศไทยยังมีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งอาจสูงถึง 20-25% โดยเฉพาะในชนบทที่มีปัญหาทันตสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นโรคเหงือก เลือดออกตามไรฟัน โรคฟันผุ ปวดฟัน ฟันโยก ต้องถอนฟัน และก็ยังพบได้ประปรายแม้ในกรุงเทพฯ เมืองศิวิไลซ์ นับได้ว่าช่องปากเป็นทางเข้าของเชื้อโรคและก่อให้เกิดการติดเชื้อเข้ากระแสเลือดได้ทางหนึ่ง
ในผู้ป่วยมะเร็งซึ่งอาจจำเป็นต้องรักษาโดยวิธีเคมีบำบัด หากไม่ดูแลสุขภาพช่องปากหรือทันตสุขภาพให้ดีเป็นพิเศษ อาจเป็นเหตุให้สุขภาพช่องปากแย่ลงและเป็นแหล่งเพาะเชื้อและติดเชื้อ ทันตแพทย์ปัจจุบันจึงแนะนำว่า
ในผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องได้รับการรักษา ด้วยเคมีบำบัด ควรจะต้องส่งมาพบทันตแพทย์ เพื่อให้ได้รับการรักษาทางทันตกรรมที่เหมาะสม ในแต่ละรายก่อนที่จะได้รับการรักษา เพราะการที่ผู้ป่วยได้รับเคมีบำบัดจะมีผลต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งหากภายหลังเกิดปัญหาในช่องปากแล้วต้องมาทำการรักษาในระยะเวลาที่ไม่เหมาะสมจะทำให้เกิดผลแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้
การให้การรักษาทางทันตกรรมในผู้ป่วยที่รับเคมีบำบัด แบ่งเป็น 3 ระยะ
1. ระยะก่อนเริ่มรับเคมีบำบัด
2. ระหว่างให้เคมีบำบัด
3. หลังให้เคมีบำบัด
1.ระยะก่อนเริ่มรับเคมีบำบัด
ในระยะนี้ทันตแพทย์จะเน้นการให้ความรู้แก่ผู้ป่วย ย้ำความสำคัญและวิธีการดูแลสุขภาพช่องปากประจำวันของตนเอง และจะทำการตรวจประเมินสภาวะช่องปากของผู้ป่วยและให้การรักษาตามความเหมาะสม
ผู้ป่วยควรหมั่นมาพบทันตแพทย์ เนื่อง จากผลแทรกซ้อนจากการรับเคมีบำบัดนั้น มีผลต่อระบบเลือด ทั้งเม็ดเลือดและเกล็ดเลือดอาจทำให้ผู้ป่วยมีสภาวะซีด ติดเชื้อง่าย และเลือดออกง่าย นอกจากนี้ยังสามารถทำให้เกิดภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบ (Mucositis) ส่งผลให้เกิดแผลในช่องปาก เกิดการติดเชื้อและมี เลือดออก ซึ่งอาการเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยเกิดความเจ็บปวดตามมาด้วยการทานอาหารไม่ได้ แปรงฟันไม่ได้ ทำให้ติดเชื้อง่ายและมีโอกาสติดเชื้อในกระแสเลือด ทำให้การรักษายุ่งยากมากขึ้น
อาการเยื่อบุช่องปากอักเสบนั้น ไม่สามารถป้องกันได้ แต่ลดความรุนแรงลงได้ ด้วยการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากให้ดีทั้งก่อนและระหว่างการให้เคมีบำบัด สำหรับวิธีที่ดี และปลอดภัยที่สุดในการกำจัดเยื่อบุช่องปากที่หลุดลอก ก็คือการบ้วนปากด้วยน้ำเกลือเจือจาง (น้ำ 1 ถ้วย กับ เกลือ 1 ช้อนชา)
การดูแลตนเองในระยะก่อนเริ่มรับเคมีบำบัด
1. การแปรงฟัน ผู้ป่วยควรเลือกใช้แปรงสีฟันขนนุ่ม สำหรับบางรายที่ไม่สามารถแปรงฟันได้ แนะนำใช้ผ้ากอซเช็ดฟัน โดยเช็ดทีละซี่จากทางคอฟันมายังปลายฟัน
2. ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
3. เลือกทานอาหารธรรมดา หลีกเลี่ยงรสเผ็ด รสจัด แข็งหรือกรอบ และอาหารที่ร้อนหรือเย็นเกินไป
2.ระหว่างให้เคมีบำบัด
ในระยะนี้การตรวจในช่องปากทันตแพทย์จะกระทำอย่างนุ่มนวลมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยได้รับรังสีมาแล้ว พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพช่องปากและกระตุ้นให้ผู้ป่วยทำความสะอาดช่องปากและจัดการกับผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น
การดูแลตนเองในระหว่างให้เคมีบำบัด
1. พบทันตแพทย์สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อให้ทันตแพทย์ประเมินสภาวะช่องปาก
2. ทำความสะอาดฟัน และอวัยวะช่องปากทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร
3. อมน้ำยาบ้วนปากที่ทันตแพทย์แนะนำ
4. หลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อเยื่อเมือกในช่องปาก เช่น เหล้า, บุหรี่, อาหารที่แข็งและมีรสจัด
5. ใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ ตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างต่อเนื่อง
6. ผู้ป่วยควรจิบน้ำบ่อย ๆ หรืออมน้ำแข็งเมื่อรู้สึกปากแห้ง
7. งดใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้ในระหว่างที่ได้รับเคมีบำบัด
8. รับประทานอาหารธรรมดา หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด หรือรสหวานมาก
3.หลังให้เคมีบำบัด
ผู้ป่วยในระยะนี้ สิ่งที่ควรระวังคือเรื่องของการติดเชื้อของเยื่อเมือกช่องปาก หมั่นพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันและอวัยวะในช่องปากเดือนละ 1 ครั้ง และทำการรักษาปัญหาที่เกิดขึ้นกับฟันโดยเร็ว การทิ้งไว้จนมีอาการมากขึ้นจะทำให้การรักษาต้องใช้เวลานาน ซึ่งจะมีผลต่อการระคายเคืองเยื่อเมือกในช่องปาก
ข้อมูลจาก ศูนย์ทันตกรรม โรงพยาบาลพญาไท 1 / http://www.phya thai.com
นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : ทันตสุขภาพในผู้ป่วย ‘เคมีบำบัด’
เรื่องนี้ไม่อนุญาติ ให้แสดงความคิดเห็น