081-300-7171 ติดต่อ-สอบถาม

นกติ๊ดหลังเทา

นกติ๊ดหลังเทา

นกติ๊ดหลังเทา

ชื่อของนกติ๊ด (tits) ฟังดูเผินๆ เหมือนเป็นคำภาษาไทยบ่งบอกถึงนกขนาดกะจิดริดเช่นเดียวกับนกกระติ๊ด (munias) แท้จริงแล้วที่มาของชื่อนั้นมาจากการเรียกทับศัพท์ชื่อในภาษาอังกฤษ ตำราบางเล่มจึงเปลี่ยนวิธีการสะกดคำจาก “นกติ๊ด” มาเป็น “นกติต” แต่เรื่องราวชวนสับสนเกี่ยวกับชื่อของนกกลุ่มนี้ไม่ได้มีเพียงแค่นั้นครับ ในทวีปยุโรปอันเป็นบ้านเกิดของนักอนุกรมวิธานและนักปักษีวิทยายุคบุกเบิกจำนวนมากนั้น นกติ๊ดเป็นกลุ่มที่เจอได้ทั่วไปตามสวนในละแวกบ้านและมีด้วยกันหลายชนิด ในจำนวนนี้ นกติ๊ดใหญ่ (Great Tit) เป็นชนิดที่มีขนาดตัวใหญ่ที่สุดสมชื่อ อย่างไรก็ตาม นกติ๊ดใหญ่ซึ่งมีขนาดตัวไม่โตไปกว่านกกระจอกนี้ไม่ถือว่าตัวใหญ่เลยหากเทียบกับนกติ๊ดชนิดอื่นๆ ในภูมิภาคอื่นของโลก

นกติ๊ดหลังเทา1

ในอดีตจัดเป็นนกที่มีการกระจายพันธุ์กว้างขวางครอบคลุมตั้งแต่ยุโรปตะวันตกไปจนถึงเอเชียตะวันออก แต่ปัจจุบันถูกแยกออกมาเป็น 3 ชนิด นกทางยุโรปและเอเชียตะวันตกมีลำตัวด้านล่างสีเหลือง ไม่เป็นสีขาวนวลเหมือนในเอเชียใต้และตะวันออก ซึ่งได้ชื่อว่านกติ๊ดหลังเทา (Cinereous Tit) และนกติ๊ดหลังสีไพล (Japanese Tit) ตำราบางเล่มเรียกนกติ๊ดหลังเทาว่า Grey Tit ซึ่งก็น่าจะสร้างความสับสนอีกไม่น้อย เพราะไปพ้องกับ Melaniparus afer ของแอฟริกาใต้ ในขณะที่นกติ๊ดหลังสีไพลเป็นนกที่พบได้ง่ายทางเอเชียตะวันออก ลงมาถึงบนภูเขาทางภาคเหนือของไทย นกติ๊ดหลังเทาพบตามป่าโปร่งในอนุทวีปอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สถานภาพของบางประชากรจัดว่าน่าเป็นห่วง ประเทศไทยพบนกติ๊ดหลังเทาได้ 2 กลุ่มหลักๆ ทางภาคอีสานของไทยเป็นชนิดย่อย templorum พบเฉพาะตามป่าผลัดใบที่ไม่สูงจากระดับน้ำทะเลมากนัก

นกติ๊ดหลังเทา2

ปัจจุบันหายากและข้อมูลน้อยเพราะสูญเสียถิ่นอาศัย อีกชนิดย่อยชื่อว่า ambiguus มีกลุ่มประชากรเล็กๆ ตามหย่อมป่าชายเลนที่สมบูรณ์ในคาบสมุทรมลายูและเกาะสุมาตรา ในไทยพบทางฝั่งทะเลอันดามันตั้งแต่พังงาไปจนถึงสตูล ส่วนฝั่งอ่าวไทยมีรายงานที่ปัตตานีเพียงแห่งเดียว นกติ๊ดหลังเทาถูกจัดให้มีสถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (VU: Vulnerable) ในหนังสือ The Birds of the Thai-Malay Peninsula ป่าชายเลนอันเป็นถิ่นอาศัยของพวกมันยังคงมีภัยคุกคามจากการแผ้วถางและเสื่อมสภาพ ส่วนหนึ่งเพราะมีโครงการขนาดใหญ่อย่างโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือน้ำลึกจ่อคิวสร้างทางฝั่งอันดามัน ความเสียหายต่อระบบนิเวศจะส่งผลกระทบไปถึงปากท้องของชุมชนท้องถิ่นอย่างใหญ่หลวงอย่างแน่นอน ————————–

นกติ๊ดหลังเทา

ชื่ออังกฤษ Cinereous Tit, Southern Great Tit ชื่อวิทยาศาสตร์ Parus cinereus (Vieillot, 1818) วงศ์ (Family) Paridae (วงศ์นกติ๊ด) อันดับ (Order) Passeriformes (อันดับนกเกาะคอน

นกติ๊ดหลังเทา3

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : นกติ๊ดหลังเทา

เข้าสู่ระบบ


ลืมรหัสผ่าน สมัครสมาชิก

ระบบสมัครสมาชิก ถูกปิดการใช้งาน