พูดจาภาษา “เหนือ”
พูดจาภาษา “เหนือ”
สุภาษิตที่ว่าเข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม วันนี้เห็นทีจะได้ใช้ เพราะเราจะไปพาไปย่ำถิ่นเมืองเหนือ ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดท้องอิ่ม เราจึงขออาสาพาทุกคนมา “อู้กำเมือง” กันค่ะ
“กินเข้าแล้วกา” กินข้าวหรือยัง?
แน่นอนล่ะว่าไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของประเทศไทยก็ต้องกินข้าว 3 มื้อ แต่ภาษาเหนือจะมีการออกเสียงและมีคำเรียกมื้ออาหารต่างจากคนภาคกลางเล็กน้อย โดยข้าวเช้าเขาจะเรียกว่า “เข้างาย” ขณะที่ข้าวเที่ยงจะเป็น “เข้าตอน” และปิดท้ายด้วยข้าวเย็น หรือ “เข้าแลง” อันเป็นมื้อสุดท้ายของวัน
วิธีการปรุงอาหารของชาวเหนือก็เหมือนกับที่เรากินกันปกติ เพราะยังมีอาหารจำพวกแกงที่ชาวเหนือจะออกเสียงเป็น “แก๋ง” ก็มี “แก๋งโฮะ” (แกงโฮะ) “แก๋งฮังเล” (แกงฮังเล) และ “แก๋งหน่อส้ม” (แกงหน่อไม้ดอง) หรืออาหารจำพวกตำก็จะออกเสียงเป็น “ต๋ำ” เช่น “ต๋ำบะเต๊ด” (ส้มตำ) “ต๋ำบะเขือ” (ตำมะเขือ) “ตำบ่าโอ” (ตำส้มโอ) ส่วนห่อหมกที่ใครหลายคนชอบกันชาวเหนือจะเรียกว่า “แอ๊บ” ซึ่งจะนิยมการห่อใบตองแล้วปิ้งมากกว่าการนึ่งเหมือนคนภาคกลาง “แอ๊บป๋าดุก” (ห่อหมกปลาดุก) และ “แอ๊บอ่องอก” (ห่อหมกสมองหมู) เมนูยอดฮิตของเขาเลย
แต่คำที่ควรระวังสักเล็กน้อยก็คือคำว่า “ลาบ” ที่ออกเสียงเหมือนกับเราเป๊ะๆ แต่ลาบความเข้าใจของชาวเหนือจะหมายถึงการเอาหมูสับไปคลุกกับเลือดก่อนที่จะตามด้วยเครื่องปรุง ไม่ต่างจาก “หลู้” ที่จะเอาน้ำเลือดมาคลุกเคล้าด้วยผักและเครื่องเทศ ก่อนโรยหน้าด้วยหมี่กรอบ
ดังนั้นถ้าใครอยากกินลาบที่เรากินกันบ่อยๆ ก็ควรสั่งว่า “ลาบคั่ว” ซึ่งหมายถึงลาบที่ “ปรุงสุก” (ผัดและรวน) เรียบร้อยแล้ว
“หยังมาลำแต้ลำว่า” ทำไมอร่อยอย่างนี้เนี่ย!?!
เมื่อได้ลิ้มรสอาหารก็ได้เวลาบรรยายความอร่อย และเพื่อแสดงความจริงใจก็อย่าลืมใส่ฟีลลิ่งลงไปเล็กน้อยพอหอมปากหอมคอ อย่างเช่น ถ้าถูกถามว่า “ลำก่อ” ก็ให้เข้าใจได้เลยว่าเขากำลังถามว่า “อร่อยไหม?” เราก็มีหน้าที่ตอบว่า “ลำกะ” แปลว่า “อร่อยสิ” หรือจะเพิ่มดีกรีอีกนิดเป็น “ลำขนาด” ที่หมายความว่า “อร่อยมาก” แต่ถ้าอาหารจานนั้นเป็นสุดยอดของความประทับใจก็ให้ตะโกนดังๆ ได้เลยว่า “หยังมาลำแต้ลำว่า” (ทำไมอร่อยอย่างนี้) รับรองว่าต้องได้รอยยิ้มพิมพ์ใจของชาวเหนือกลับมาแน่ๆ
ส่วนรสชาติอื่นๆ ก็มีตั้งแต่ “ส้ม” ที่หมายถึงรสเปรี้ยว “เก็ม” ที่หมายถึงรสเค็ม ถ้าเปรี้ยวมากๆ ก็ให้ใส่น้ำเสียงได้เลยว่า “ส้มโจ๊ะโล๊ะ” หรือ “เก็มโจ๊ะโล๊ะ” ซึ่งความหมายของ “โจ๊ะโล๊ะ” นั้นก็คล้ายๆ กับเป็นการบอกว่าพลั้งมือใส่เครื่องปรุงไป (แล้ว) ใช่ไหม? แต่ถ้ากลัวคนฟังน้อยใจแล้วล่ะก็ เราก็แค่บอกว่า “ส้มขนาด” หรือ “เก็มขนาด” ให้พอน่ารักน่าชัง
นอกจากนี้ยังมีคำบอกรสชาติเก๋ๆ อีกหลายคำ ไม่ว่าจะเป็น “จ๋างแจ้ดแผ้ด” แปลว่า รสชาติจืดชืด “ขมแก๊ก” ที่แปลว่า ขมมาก ไปจนถึง “ฝาดหยั่งก้นตุ๊” รสฝาดมาก แต่ถ้าเกิดอาการเหม็นจนทนไม่ไหวก็ให้ร้องกรี๊ดว่า “เหม็นโอ๊ง” พร้อมลากเสียงยาว ซึ่งแปลว่า “เหม็นเน่า” นั่นเอง
“ของกิ๋นลำอยู่ตี้คนมัก” ของอร่อยอยู่ที่คนชอบ
ปิดท้ายกันด้วยสำนวนเกี่ยวกับอาหารการกินกันสักเล็กน้อย และเมื่อดูๆ แล้วคนเหนือก็ให้ความสำคัญกับการกินมากๆ เลยล่ะ
ยกตัวอย่างเช่น “น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า” ที่เราใช้กัน ชาวเหนือก็จะมีสำนวนว่า “กล้วยค้ำง่าม ง่ามค้ำกล้วย” ซึ่งหมายถึงต้นกล้วยและไม้ง่ามก็ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ต่างคนก็ต่างช่วยกัน ต่อด้วยคำสอนสุดแสนโดนใจอย่าง “กินแล้วหื้อเก็บ เจ็บแล้วหื้อจำ” ที่แปลว่าถ้ากินอาหารแล้วก็ให้รู้จักเก็บภาชนะ และถ้ามีใครทำให้เจ็บใจก็ให้ควรจดจำด้วย หรือพูดสั้นก็คือ “เจ็บแล้วจำ”
ที่เราชอบมากที่สุดต้องยกให้ “ของกินลำอยู่ที่คนมัก ของฮักอยู่ที่คนเปิงใจ” หมายถึง ของกินอร่อยอยู่ที่คนชอบ ของมีค่าของรักอยู่ที่คนพึงพอใจ เพราะฉะนั้นอย่ามาบังคับกันเสียให้ยาก
เขียนโดย รตินันท์ สินธวะรัตน์ จากบทความ ” How to speak like a Northerner? พูดจาภาษา “เหนือ” ” คอลัมน์ NICE TO KNOW นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 174 ]]>© By Gourmet and Cuisine พูดจาภาษา “เหนือ”
Gourmet & Cuisine
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : พูดจาภาษา “เหนือ”
เรื่องนี้ไม่อนุญาติ ให้แสดงความคิดเห็น