081-300-7171 ติดต่อ-สอบถาม

รับมือ วัยทอง ง่ายนิดเดียว

รับมือ วัยทอง ง่ายนิดเดียว

สตรีที่อายุระหว่าง  45 – 50 ปี คือช่วงเวลาที่อยู่ใน วัยทอง นั่นหมายถึงภาวะการหมดประจำเดือนหรือระดู เนื่องจากรังไข่หยุดการผลิตฮอร์โมน และไม่สามารถมีบุตรได้อีกต่อไป สตรีหลายๆ คนมักมีอาการของ วัยทอง ที่ส่งผลทั้งทางด้านอารมณ์ และร่างกาย

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวถึงสตรี วัยทอง ในประเทศไทยที่มีประมาณ 7 ล้านคนว่า ผู้หญิงที่อยู่ใน วัยทอง หรือหญิงวัยหมดระดู เป็นช่วงวัยสำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ ที่มีผลจากการลดลงของฮอร์โมนเพศ จึงทำให้มีปัญหาสุขภาพที่แตกต่างจากวัยอื่น ผลการสำรวจภาวะสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพในผู้หญิงไทย อายุ 45-59 ปี ของสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย พ.ศ. 2554 พบว่า หญิง วัยทอง ร้อยละ 48 มีโรคประจำตัว โดย 3 อันดับแรกที่พบมาก ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคเกี่ยวกับกระดูกและข้อ และร้อยละ 28 ของหญิง วัยทอง มีความเสี่ยงสูงต่ออาการหญิง วัยทอง นอกจากนี้ยังพบภาวะอ้วนลงพุงร้อยละ 57

80617788

ด้าน รศ.พญ.อรวรรณ คีรีวัฒน์ นายกสมาคมอนามัยเจริญพันธุ์(ไทย) กล่าวว่า การก้าวเข้าสู่ วัยทอง ของสตรีนั้น จะมีช่วงวัยใกล้หมดประจำเดือน เป็นช่วงเวลาที่ผู้หญิงยังไม่หมดประจำเดือน หรือไม่มีประจำเดือนมาระยะเวลาหนึ่งแต่ไม่ถึง 1 ปี ช่วงวัยนี้อาจจะยาวนานถึง 6 ปีก่อนจะก้าวสู่ วัยทอง โดยปรากฎอาการออกเป็นตามช่วงคือ ช่วงแรก ประจำเดือนจะมาเร็วขึ้น จากที่เคยมาทุกเดือน จะมาทุกๆ3อาทิตย์ ช่วงที่สอง ประจำเดือนจะเริ่มมาห่าง เช่น 2-3 เดือนมาครั้งนึง ช่วงที่สาม คือช่วงที่ประจำเดือนหายไปนานจนครบ 1 ปี

“ระหว่างช่วงเข้าสู่ วัยทอง จนหมดประจำเดือนนั้น ผู้หญิงหลายๆ คนจะมีอาการผิดปกติปรากฎ ซึ่งแต่ละคนจะแตกต่างกัน อาการ วัยทองของหญิงไทยจะมีประมาณ 21-22 อาการ เช่น อาการร้อนวูบวาบ นอนไม่หลับ ประจำเดือนมาไม่ปกติ มดลูกแห้ง หงุดหงิด ร่างกายอ่อนเพลีย ผมร่วง  หลงลืมง่าย วิงเวียนศรีษะ ท้องอืด ปัสสาวะและขับถ่ายบ่อย ฯลฯ และหญิงไทยกับหญิงต่างประเทศก็จะมีความแตกต่างกันในเรื่องของอาการ วัยทอง เนื่องจากมีระบบเมตาบอลิซึมที่ต่างกัน โดยคนไทยจะไม่ได้มีอาการด้านใดเด่นเป็นพิเศษ แต่ผู้หญิงชาวต่างประเทศมักจะมีอาการปรากฎเด่นชัด เช่น อาการร้อนวูบวาบ เป็นต้น”  นายกสมาคมอนามัยเจริญพันธุ์ กล่าว

สำหรับการดูแลตัวเองในช่วงของ วัยทอง นั้น รศ.พญ.อรวรรณ แนะนำว่า ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดการรับประทานอาหารหวาน มัน เค็ม เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคความดัน เบาหวาน โดยควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยอาทิตย์ละ 150 นาที ควรพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อรักษาอารมณ์ให้เป็นปกติ และหมั่นไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ หากสตรี วัยทอง คนไหนที่มีอาการผิดปกติมากเป็นพิเศษสามารถไปพบคุณหมอ เพื่อปรึกษาอาการได้ที่คลินิก วัยทอง ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง

วัยทอง รับมือได้ไม่ยาก ขอเพียงตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ ใส่ใจกับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และแบ่งเวลาพักผ่อนให้เพียงพอค่ะ…

เรื่องโดย อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์
Team Content www.thaihealth.or.th