081-300-7171 ติดต่อ-สอบถาม

รู้ไว้ก่อนใช้วิตามินเสริม

รู้ไว้ก่อนใช้วิตามินเสริม
vitamin

แนวคิดที่ว่า ในเมื่อวิตามินจำนวนน้อยดีต่อร่างกาย วิตามินจำนวนมากหรือวิตามินขนาดยักษ์ (megavitamin) ก็คงจะยิ่งดีต่อร่างกายมากขึ้น ผสมกับแนวคิดว่าวิตามินบางอย่างเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ทำให้มีการใช้วิตามินเสริมกันมาก แต่วงการแพทย์แผนตะวันตกมีนักวิทยาศาสตร์ขี้สงสัย ซึ่งเขาสงสัยว่า การใช้วิตามินเสริมจะมีผลดีผลเสียอย่างไรบ้าง 


      นจำนวนมากที่มีแนวคิดในการกินวิตามินเพื่อเป็นสารเสริมอาหารนั้น เนื่องจากเกรงว่าตัวเองจะกินอาหารไม่เพียงพอ เช่น คนที่คุมอาหารเพื่อลดน้ำหนัก แต่โดยทั่วไปในสังคมที่เจริญแล้ว โรคขาดวิตามินหรือสารเสริมอาหารอื่นๆ เป็นสิ่งที่พบได้น้อยมาก ดังนั้นการกินสารเสริมอาหารจึงมีความเสี่ยงที่อาจจะทำให้ร่างกายได้รับสารเหล่านี้มากเกินไป

      เหตุผลอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้คนนิยมกินสารเสริมอาหารก็คือเพื่อป้องกันโรคร้าย แต่ผลการศึกษาหลายชิ้นได้แสดงให้เห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า อาหารจำพวกผักผลไม้หรืออาหารจากพืชอื่นๆ ที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระมีความสัมพันธ์ในระดับที่ต่ำกับอัตราการเกิดมะเร็งและโรคหัวใจ

      อย่างไรก็ดียังไม่มีการศึกษาพบว่า สารเสริมอาหารสังเคราะห์มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่กลับพบว่าอาจจะทำให้เกิดโทษด้วย อย่างเช่น ผลการวิจัยล่าสุด ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลของโครงการที่เรียกว่า Iowa Women’s Health Study (IWHS) ด้วยการติดตามการใช้สารเสริมอาหารของผู้หญิงจำนวนมากกว่า 38,000 รายที่มีอายุ 55 ปีหรือมากกว่า เป็นเวลาเกือบ 20 ปี ผลลัพธ์ส่วนหนึ่งที่พบก็คือ การใช้วิตามินรวมดูเหมือนว่าจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร

      ขณะที่ผลการศึกษาชิ้นอื่นๆ ก็ทำให้พบหลักฐานที่ต่อต้านการใช้สารเสริมอาหารเพื่อป้องกันโรคและรักษาสุขภาพมากขึ้นเช่นกัน แต่มีข้อยกเว้นดังจะกล่าวถึงต่อไป ตอนนี้ลองมาดูผลการศึกษาที่พบผลเสียหรือโทษที่อาจจะเกิดจากวิตามินหรือเกลือแร่เสริมอาหารกันก่อน

      วิตามินอ การศึกษาทบทวนผลงานวิจัยในปี 2005 ชิ้นหนึ่งพบว่า การกินวิตามินอีเสริมขนาด 400 IU(international unit =หน่วยสากล) หรือมากกว่า หรือแม้ในขนาดที่ต่ำลงไปถึง 150 IU ต่อวัน อาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ ซึ่งรวมถึงการเสียชีวิตก่อนวัย ส่วนการศึกษาอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งทำการศึกษาการใช้วิตามินอีและซีลีเนียมเพื่อลดการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชายจำนวนมากกว่า 35,000 คน ที่มีอายุ 50 ปี หรือมากกว่า พบว่า คนที่กินซีลีเนียม 200 ไมโครกรัมอย่างเดียวหรือกินร่วมกับวิตามินอี 400 IU ไม่ได้เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากน้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชายที่กินยาหลอก แต่กลับพบว่า ผู้ชายที่กินวิตามินอี 400 IU อย่างเดียวมีอัตราเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มขึ้น 18% vitamin e

      วิตามินเอ การศึกษาขนาดใหญ่ในผู้หญิงหลังหมดประจำเดือนชิ้นหนึ่งพบว่า การกินวิตามินเออะซีเตต หรือวิตามินเอปาล์มิเตตเป็นเวลานาน ในขนาดอย่างน้อย 2,000 ไมโครกรัม (6,600 IU) อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการหักของกระดูกสะโพก แต่งานวิจัยชิ้นอื่นไม่ได้สรุปอย่างนี้ ในการรวบรวมผลการวิจัยขนาดใหญ่พบว่า การกินเบต้าแคโรทีนเสริม (ซึ่งเปลี่ยนเป็นวิตามินเอในร่างกาย) เพิ่มความเสี่ยงที่จะเสียชีวิต โดยเฉพาะในคนที่สูบบุหรี่ หรือคนที่เคยสูบบุหรี่ เนื่องจากวิตามินเอในรูปของเรตินอล (retinol) มีศักยภาพที่จะทำให้เกิดพิษ ถ้ากินในขนาดมากกว่า 10,000 IU ต่อวัน และเนื่องจากการขาดวิตามินเอในประเทศพัฒนาเกิดขึ้นได้น้อยมาก ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้กินวิตามินเอเสริมvitamin A

      กรดโฟลิก หรือ โฟเลต (หรือวิตามินบี 9) ผู้ใหญ่ส่วนมากได้รับโฟเลตเพียงพอ แต่การกินสารนี้เสริมในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ เพื่อลดความผิดปกติของทารกเป็นสิ่งที่ได้ผลดี ส่วนประโยชน์อย่างอื่นยังไม่ปรากฏแน่ชัด มิหนำซ้ำในงานวิจัยบางชิ้นยังพบว่า การกินกรดโฟลิกเสริมอาจจะทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่มขึ้น ขณะที่ในการศึกษาที่เรียกว่า Iowa Women’s Health Study บ่งชี้ว่า การกินกรดโฟลิกเสริมอาจทำให้ความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตก่อนวัยเพิ่มขึ้น 5% 
vitamin b9
     

วิตามินบี 6 มีการศึกษาพบว่าเมื่อกินวิตามินบี 6 ขนาดใหญ่ (มากกว่า 100 มิลลิกรัม) ไปนานๆ จะทำให้เส้นประสาทเกิดความเสียหาย ส่วนในการศึกษาที่ไอโอวาพบว่า การกินวิตามินบี 6 เสริมดูเหมือนว่าจะทำให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยเพิ่มขึ้น 4.1%vitamin b6

      วิตามินบี 3 (niacin) เมื่อกินในขนาดสูงสามารถลดระดับคอเลสเตอรอลได้ แต่อาจจะมีพิษต่อตับ ดังนั้นคนที่กินวิตามินบี 3 เสริมจึงควรได้รับการดูแลและเฝ้าระวังโดยแพทย์
vitamin b3
      เหล็ก ในผู้ชายหรือหญิงที่สุขภาพดี การขาดธาตุเหล็กเป็นสิ่งที่พบยาก ดังนั้นถ้าคุณอยู่ในกลุ่มคนดังกล่าวและขาดธาตุเหล็กก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติมว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร จากการศึกษาสุขภาพของผู้หญิงที่ไอโอวาพบว่า คนที่กินธาตุเหล็กเสริมมีการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพิ่มขึ้น 3.9% แต่ส่วนมากคนที่เป็นโรคโลหิตจางมักจะได้รับธาตุเหล็กจากแพทย์ ทำให้มีหลายคนวิพากษ์วิจารณ์ผลการศึกษาชิ้นนี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นแค่ผลข้างเคียงเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วคงทำให้ผู้อ่านคิดว่า ไม่มีวิตามินเสริมอะไรที่ดีๆ กินแล้วมีประโยชน์ต่อร่างกายบ้างเลยหรือ คำตอบคือมีเหมือนกัน อย่างเช่น

      แคลเซียม ผู้รู้จากเมโยคลินิกแนะนำให้คนสูงวัยกินแคลเซียมเสริมอาหารให้ครบวันละ 1,200 มิลลิกรัม (โดยอาหารที่เป็นแหล่งแคลเซียมที่ดีที่สุด เช่น ปลาไส้ตัน ฯลฯ) โดยไม่ควรกินเกินกว่าขนาดนี้ อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า การกินแคลเซียมเสริมเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจวาย แต่การศึกษาชิ้นเก่าๆ ไม่สนับสนุนข้อสรุปอย่างนั้น และในการศึกษาสุขภาพของผู้หญิงไอโอวาพบว่า คนที่กินแคลเซียมเสริมมีอัตราความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตก่อนวัยลดลง 3.8% 
calcium
      วิตามินดี ช่วยในการดูดซึมแคลเซียม ดังนั้นเพื่อรักษาสุขภาพของกระดูกและป้องกันกระดูกหักจากการล้มของคนสูงวัย จึงแนะนำให้กินวิตามินดีวันละ 600-800 IU จากอาหารและจากแคลเซียมเสริม ขณะที่แพทย์บางคนคิดว่า ควรกินในขนาดที่มากกว่านั้น แต่ถ้าจะให้ดีมีผู้รู้กล่าวว่า ควรเจาะเลือดตรวจระดับแคลเซียมดูก่อนว่าควรกินวิตามินดีเพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่สำหรับพวกเราคนไทยที่อยู่ในประเทศอันอุดมด้วยแสงแดด ซึ่งช่วยผลิตวิตามินดีที่ผิวหนัง จึงน่าจะได้รับวิตามินดีตามธรรมชาติมากกว่าฝรั่งที่บ้านเมืองของพวกเขามีแสงแดดน้อยกว่าvitamin D

      วิตามินบี 12 ประมาณการณ์กันว่า ผู้สูงอายุขาดวิตามินบี 12 กันถึง 15% และเนื่องจากยังไม่มีหลักฐานที่แสดงถึงพิษภัยของวิตามินตัวนี้ จึงอาจเป็นการดีที่คนสูงอายุจะกินวิตามินบี 12 เสริมวันละ 2.5 ไมโครกรัม เพื่อป้องกันภาวะขาดวิตามินนี้
vitamin b12
      โดยสรุป แม้ว่าการเพิ่มความเสี่ยงจากการกินวิตามินเสริมจะมีไม่มาก แต่ก็น่ากังวล เพราะว่าปัจจุบันมีคนเป็นจำนวนมากที่บริโภควิตามินเสริม ทำให้ผลเสียมีมากขึ้นตามจำนวนคนกิน ดังนั้นจึงไม่ควรกินวิตามินเสริมโดยไม่จำเป็น

Article: นพ.นริศ เจนวิริยะ ศัลยแพทย์