ร้อนแบบนี้ ต้องระวัง! โรคพิษสุนัขบ้า
ร้อนแบบนี้ ต้องระวัง! โรคพิษสุนัขบ้า
โรค พิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่เกิดในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิด เกิดจากเชื้อไวรัส อยู่ในสกุล Rhabdoviridae , Genus Lyssavirus ไม่ทนทานต่อบรรยากาศแวดล้อม เชื้อจะถูกทำลายง่ายด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
การกระจายของโรค
พบได้ทั่วโลกพบมากในทวีป เอเชีย แอฟริกา ลาตินอเมริกา จากรายงานขององค์การอนามัยโลก พบว่ามีผู้เสียชีวิตด้วยโรค พิษสุนัขบ้า ทั่วโลกในปี 2541 ประมาณ 35,000 – 50,000 ราย
สาเหตุการติดเชื้อ
ส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากสุนัขโดยการถูกสุนัขกัด, ข่วน หรือเลียบริเวณเยื่อเมือก( เช่นริมฝีปาก, เยื่อตา ) โดยเชื้อไวรัสในน้ำลายสัตว์ผ่านเข้าทางบาดแผลหรือเยื่อเมือกของผู้สัมผัส
ระยะฟักตัวของเชื้อในคน
จากการสำรวจในประเทศไทย ในปี 2522 –2528 พบว่า 87% มีระยะฟักตัวของโรค 3 เดือน 71% มีระยะฟักตัวของโรค 1 เดือน แต่ทุกรายมีระยะฟักตัวของโรคไม่เกิน 1 ปี แต่ยังขึ้นกับปัจจัยดังนี้
- อวัยวะที่ถูกกัด
- ความรุนแรงของแผลที่ถูกกัด
- ชนิดของสัตว์ที่กัด
- ปริมาณของเชื้อไวรัสที่เข้าไปในบาดแผล
- วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการรักษาหลังสัตว์กัด
การติดเชื้อโรค พิษสุนัขบ้า ในคนและสัตว์ แบ่งเป็น 3 ระยะ
- ระยะที่เชื้อเดินทางจากตำแหน่งที่เข้าไปยังระบบประสาท
- ระยะเชื้อเพิ่มจำนวนในระบบประสาทส่วนกลาง
- ระยะที่เชื้อเดินทางจากระบบประสาทส่วนกลางออกสู่อวัยวะอื่น
จากการสำรวจผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยปี พ.ศ. 2543 พบว่า
- การเกิดโรคในเพศชาย มากกว่าเพศหญิง
- ส่วนใหญ่ถูกสุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด
- ส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคหลังรับเชื้อ
- กลุ่มอายุที่พบมากจะอยู่ระหว่าง 5 – 9 ปี
การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคน
องค์การอนามัยโลกได้มีการกำหนดให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กลุ่มคนที่มีอัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อพิษสุนัขบ้าดังนี้
- กลุ่มที่เสี่ยงมากต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ได้แก่ ผู้ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการวิจัยเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า กลุ่มดังกล่าวนี้จำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
- กลุ่มที่มีโอกาสสัมผัสกับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าปานกลาง เช่น เจ้าหน้าที่ชันสูตรโรคพิษสุนัขบ้า สัตวแพทย์ นักสัตววิทยา ผู้ปฏิบัติงานควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในภาคสนาม ผู้พิทักษ์สัตว์ป่า ผู้มีอาชีพเลี้ยงสัตว์(โดยเฉพาะสุนัข แมว และสัตว์ป่า) และรวมถึงบุคลากรในสถานบริการสาธารณสุข
วัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย
วัคซีนที่เตรียมจากเซลล์เพาะเลี้ยง มี 3 ชนิด
- Human Diploid Cell Rabies Vaccine หรือ HDCV
- Purified Chick Embryo Cell Rabies Vaccine หรือ PCEC
- Purified Vero Cell Rabies Vaccine หรือPVRV
วัคซีนที่เตรียมจากไข่เป็ดฟัก
- Purified Duck Embryo Cell Rabies Vaccine หรือ PDEV
การใช้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคน
การใช้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ
- โปรแกรมการฉีดวัคซีนป้องกันล่วงหน้า (Pre-Exposure Immunization) องค์การอนามัยโลกกำหนดโปรแกรมการฉีดวัคซีนป้องกันล่วงหน้าโดยฉีด 3 ครั้ง ในวันที่ 0 7 และ 21 หรือ 28 หลังจากนั้นฉีดกระตุ้นเมื่อสัมผัสเชื้ออีก 1 หรือ 2 เข็ม แต่ถ้าม่มีประวัติสัมผัสแต่ต้องทำงานสัมผัสกับเชื้อตลอดเวลาอาจฉีดกระตุ้นทุก 3 – 5 ปี
- โปรแกรมการฉีดวัคซีนป้องกันหลังจากสัมผัสกับโรค (Post-Exposure Immunization)
องค์การอนามัยโลกกำหนดแนวทางการพิจารณารักษาผู้ที่สัมผัสกับโรคพิษสุนัขบ้าไว้ดังนี้
(1) หยุดฉีดวัคซีนเมื่อสัตว์(เฉพาะสุนัขและแมว)ยังเป็นปกติตลอดเวลากักขังเพื่อดูอาการ 10 วัน
(2) กรณีถูกกัดเป็นแผลที่บริเวณใบหน้า ศีรษะ คอ มือและนิ้วมือ หรือแผลลึก แผลฉีกขาดมากหรือถูกกัดหลายแผลถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสูงและระยะฟักตัวมักสั้น จึงจำเป็นต้องฉีดอิมมูโนโกลบุลิน โดยเร็วที่สุด
โปรแกรมการฉีดวัคซีนป้องกันหลังจากสัมผัสกับโรคในประเทศไทยที่ใช้กันแพร่หลายมีอยู่ 2 แบบ
- โปรแกรมการฉีดวัคซีนแบบปกติ โดยฉีดวัคซีน 1 โด๊ส ในวันที่ 0, 3, 7, 14 และ 30
- โปรแกรมการฉีดแบบประหยัด ใช้ได้กับวัคซีนPVRV โดยฉีด 2 จุดในวันที่ 0, 3, 7 จากนั้นฉีด 1 จุด ในวันที่ 30 และ 90
ขอบคุณที่มาจาก : กองสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร
สรุปจากบทความ แนวทางการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคน โดย ชาญณรงค์ มิตรมูลพิทักษ์ และวีระ เทพสุเมธานนท์
วารสารสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 ประจำเดือน กรกฎาคม – กันยายน 2544
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : ร้อนแบบนี้ ต้องระวัง! โรคพิษสุนัขบ้า
เรื่องนี้ไม่อนุญาติ ให้แสดงความคิดเห็น