10 เคล็ดลับแก้ปัญหา ท้องผูก
10 เคล็ดลับแก้ปัญหา ท้องผูก
อาการ ท้องผูก ขับถ่ายลำบากมักจะเป็นปัญหาที่ทำให้ร่างกายรู้สึกไม่สบายตัว อึดอัด แน่นท้อง และอาจจะมีโรคต่างๆ ตามมาได้ดังนั้นเรามาดูวิธีที่ทำให้เราขับถ่ายได้อย่างง่ายสบายพุงมาฝากกัน
1. กินอาหารเช้า ตอนเช้าลำไส้ใหญ่ทำงานมากที่สุด อาหารจะกระตุ้นกระเพาะอาหารและลำไส้ให้บีบตัวจนรู้สึกอยากถ่าย
2. รอ รอ รอ หลังกินอาหารเช้าแล้วให้รอสัก 30 นาที ระหว่างรออาจเดินไปเดินมาเพื่อช่วยให้ลำไส้ได้ขยับตัว และเมื่อรู้สึกปวดถ่ายให้ถ่ายทันที เพราะความรู้สึกดังกล่าวจะอยู่กับเราแค่สองนาทีเท่านั้น
3. ดื่มน้ำให้เพียงพอ คนปกติควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร คน ท้องผูก ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 3 ลิตร น้ำจะช่วยให้อุจจาระนิ่ม ขับถ่ายง่ายขึ้น ถ้าบุคคลเป็นโรคไตหรือโรคหัวใจให้ลดปริมาณลงเหลือเพียงไม่เกิน 2 ลิตร
4. กินผักผลไม้เป็นประจำ และควรกินพร้อมกากไม่ใช่แบบคั้นน้ำ เพื่อให้ได้รับกากใยอาหารเพียงพอต่อการขับถ่าย หากเป็นไปได้ ปั่นผลไม้รวมผสมโยเกิร์ต กินเช้า – เย็น ทุกวัน จะช่วยให้การขับถ่ายระบายท้องดียิ่งขึ้น
5. เลี่ยงอาหารประเภทไขมัน เพราะไขมันทำให้การบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ลดลง จึงท้องอืดและ ท้องผูก ได้
6. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ วิ่งหรือเดินสัก 20 นาทีต่อวัน เพื่อช่วยบริหารหัวใจและทำให้ลำไส้ได้เคลื่อนไหวตัว
7. เครียดไปก็ ท้องผูก ความเครียดส่งผลให้ระบบภายในรวนหมด แถมยังทำให้กินไม่ได้นอนไม่หลับ เมื่อไม่มีอาหารที่เพียงพอ แถมพักผ่อนน้อย ผสานกับความเครียด ลำไส้ก็เลยทำงานได้น้อยลงส่งผลให้ ท้องผูก หากปฏิบัติตามข้อ 1 – 7 แล้วยังไม่ได้ผล จึงขยับไปใช้ยาถ่ายในข้อ 8, 9 หรือ 10
8. ยาถ่ายกลุ่มดูดซึมน้ำจากนอกลำไส้เข้าสู่ลำไส้ เช่น ยาชื่อ Milk of Magnesia กลุ่มนี้ช่วยดึงน้ำเข้าสู่ลำไส้มากขึ้น ทำให้อุจจาระนิ่มและถ่ายง่าย เหมาะกับบุคคลที่ ท้องผูก ระยะเริ่มต้น แต่หากจะใช้ระยะยาวก็มีผลข้างเคียงน้อย
9. ยาถ่ายกลุ่มน้ำตาลที่ไม่ดูดซึมสู่ร่างกาย เช่น ยาที่ได้จากน้ำตาล Lactulose เมื่อน้ำตาลนี้เข้าสู่ร่างกายตกสู่ลำไส้ใหญ่จะไม่ถูกดูดซึมกลับ ทำให้ปริมาณน้ำตาลในลำไส้ใหญ่มากขึ้น ร่างกายจึงลำเลียงน้ำสู่ลำไส้ใหญ่มากขึ้นเพื่อปรับสมดุลน้ำตาล ทำให้ปริมาณน้ำภายในลำไส้มาก ก็ขับถ่ายได้ง่าย เหมาะกับคน ท้องผูก ที่ต้องใช้ยาเป็นประจำ
10. ยาถ่ายกลุ่มกระตุ้นการบีบรัดตัวของลำไส้ เช่น มะขามแขก หรือยา Bisacodyl มักได้ผลดีในระยะเริ่มใช้ แต่เมื่อใช้ไปนานๆ จะเกิดอาการดื้อยา ทำให้ต้องเพิ่มจำนวนยามากขึ้น เหมาะกับผู้ป่วยที่ ท้องผูก เป็นครั้งคราวเนื่องจากการเปลี่ยนที่อยู่อาศัยหรือเดินทางไกล แต่ไม่แนะนำให้ใช้เป็นประจำ
หมายเหตุ แต่หากอาการถ่ายไม่ออกของคุณ พ่วงกับการมีมูกหรือเลือดปนมากับอุจจาระอุจจาระลำเล็กลง รู้สึกเหมือนถ่ายไม่หมด มี ท้องผูก สลับท้องเสีย ท้องผูก เฉียบพลันหรือเป็นมาในช่วงสั้น ๆ และมีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ กรุณาไปพบแพทย์ด่วน
ขอบคุณข้อมูลจาก : นายแพทย์สุริยะ จักกะพาก ศัลยแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
ขอบคุณที่มาจาก : Health&Cuisine ตุลาคม, Issue 153
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : 10 เคล็ดลับแก้ปัญหา ท้องผูก
เรื่องนี้ไม่อนุญาติ ให้แสดงความคิดเห็น